Uncategorized

7 เช็กลิสต์อุปกรณ์ร้านกาแฟที่คนอยากเปิดร้านต้องมี และ Home Brewer ควรรู้

อุปกรณ์ร้านกาแฟที่คนเปิดร้านต้องรู้

นับตั้งแต่ 3 ปีก่อนเกิดวิกฤตโรคระบาด COVID-19 ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าธุรกิจในฝันของใครหลายอย่าง “ธุรกิจร้านกาแฟ” ได้กลายเป็นหนึ่งในไม่กี่ธุรกิจที่มีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนผู้เปิดร้านใหม่ในวงการกาแฟอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งหากจะยืนหยัดและต่อสู้ในการแข่งขันที่สูงขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน การเตรียมตัวที่ดี ไม่ว่าจะในเรื่องของอุปกรณ์ชงกาแฟ เมนู และการนำเสนอเครื่องดื่มนั้นล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ร้านของคุณโดดเด่นและประสบความสำเร็จได้ ซึ่งก่อนที่จะเตรียมตัวเปิดร้านกัน วันนี้เราจะขอชวนว่าที่บาริสต้าทุกคนมาเริ่มต้นมาเตรียมความพร้อมเรื่องอุปกรณ์ร้านกาแฟผ่าน 7 กลุ่มเช็กลิสต์อุปกรณ์ ที่คนเปิดร้านต้องมี และ Home Brewer ทุกคนควรรู้จักกัน แต่จะมีอะไรบ้างนั้น จิบกาแฟเสร็จแล้วตามมาดูกันเลย!

เช็กลิสต์กลุ่มที่ 1 : เมล็ดกาแฟ

การจะเสิร์ฟเมนูกาแฟที่ถูกใจคนหมู่มาก ไม่เพียงอาศัยแค่ฝีมือของบาริสต้าอย่างเดียว แต่ต้องเริ่มต้นตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะเมล็ดกาแฟที่ใช้ใน House Blend หรือเมล็ดเบลนด์หลักที่ใช้ใน Speed Bar ของที่ร้าน

The Home Barista ขอแนะนำว่า ในการเลือกเมล็ดกาแฟ House Blend สำหรับร้าน หากต้องการเลือกใช้กาแฟเบลนด์เดียว ควรเลือกเมล็ด House Blend ที่ใช้งานได้หลากหลาย เช่น สามารถชงเป็นกาแฟดำได้อร่อย แต่เมื่อนำไปชงเป็นเมนูนมก็กลมกล่อม หรือเมนูที่ใช้เอสเพรสโซ่เป็นส่วนผสมก็ต้องได้รสชาติที่ลงตัว รวมถึงเมนูที่ต้องผสมกับวัตถุดิบอื่น ๆ เช่น ไซรัป หรือถ้าหากนำไปทำเป็นเมนูเย็นหรือปั่นแล้ว ก็ต้องคงรสชาติของกาแฟ ไม่อ่อนเกินจนโดนวัตถุดิบอื่น ๆ กลบ หรือเข้มขมจนดื่มยาก

หรือหากร้านไหนต้องการมี House Blend สองแบบสำหรับชงกาแฟดำ และชงกาแฟผสมนม ทางเราแนะนำให้มีเครื่องบด 2 เครื่องที่แยกเมล็ดกาแฟ เพื่อป้องกันไม่ให้กลิ่นของกาแฟทั้ง 2 เบลนด์นั้นมาปนกัน

นอกจากนี้ ที่ร้านควรมีเมล็ดกาแฟคั่วอ่อนประมาณ 2-3 ชนิดสำหรับชงเมนูกาแฟดริปให้กับลูกค้า Slow Bar ซึ่งควรบดด้วยเครื่องบดคนละเครื่องกับ House Blend เพื่อไม่ให้กลิ่นของเมล็ดกาแฟที่คั่วสำหรับ Espresso นั้นมาปนกับเมล็ดกาแฟที่คั่วสำหรับดริปด้วย

เช็กลิสต์กลุ่มที่ 2 : น้ำ

หากใครคิดว่าเมล็ดกาแฟเป็นเรื่องสำคัญแล้ว บอกเลยว่า “น้ำ” เป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่า เพราะรู้หรือไม่? คุณภาพของน้ำที่ใช้ในการชงกาแฟนั้นเป็นตัวกำหนดรสชาติไปแล้วกว่า 96% โดยน้ำที่นำมาชงกาแฟต้องมีปริมาณแร่ธาตุที่เหมาะสม ตลอดจนมีค่า pH และ TDS ที่เหมาะในแต่ละเมนูเช่นกัน ซึ่งหากใครยังไม่เคยรู้จักค่า pH และ TDS เลยนั้น เราจะขออธิบายให้เข้าใจคร่าว ๆ ดังนี้

  • ค่า pH คือ ค่าความเป็นกรดและเบส ซึ่งน้ำที่เหมาะสำหรับการชงกาแฟควรจะอยู่ที่ 7
  • ค่า TDS หรือ Total Dissolved Solids คือ ค่าที่บอกปริมาณสารแขวนลอยในน้ำ เช่น แร่ธาตุต่าง ๆ และ ไอออน เป็นต้น โดยค่า TDS นี้ถือเป็นปัจจัยหลักที่กำหนดทิศทางของรสชาติกาแฟแต่ละแก้วเลยก็ว่าได้ โดยค่า TDS ที่เหมาะสมสำหรับอุปกรณ์ร้านกาแฟอย่างเครื่องชงกาแฟจะอยู่ที่ 50-100 PPM

รู้ไว้ใช่ว่า!

ร้านกาแฟส่วนมากจะมีวิธีควบคุมคุณภาพน้ำที่แตกต่างกันออกไป เช่น การใช้เครื่องกรองน้ำประเภทต่าง ๆ การเลือกใช้น้ำ RO ในการชงกาแฟ รวมไปถึงการผสมน้ำยี่ห้อต่าง ๆ เพื่อให้ค่า TDS และ pH ลงตัว

แต่นอกจากวิธีต่าง ๆ นี้ เจ้าของธุรกิจร้านกาแฟยังสามารถควบคุมคุณภาพน้ำได้โดยใช้ “ผงปรุงน้ำ” เช่นกัน โดยผงปรุงน้ำเหล่านี้จะมีแร่ธาตุที่แตกต่างกันออกไปตามรสชาติที่แต่ละร้านต้องการ อีกทั้งยังปลอดภัยต่อผู้บริโภค และสามารถช่วยบริหารจัดการค่าน้ำได้อย่างลงตัวมากขึ้นด้วย

เช็กลิสต์กลุ่มที่ 3 : วัตถุดิบเสริมสำหรับชงเครื่องดื่ม

นอกจากเครื่องดื่มกาแฟแล้ว การมีเครื่องดื่มอื่น ๆ รวมถึง Non Coffee Menu ติดร้านเอาไว้ก็ช่วยตอบโจทย์ให้กับลูกค้าที่ไม่สามารถดื่มกาแฟได้ รวมไปถึงลูกค้าที่ต้องการเครื่องดื่มสบาย ๆ ในแต่ละช่วงของวันด้วย โดยอุปกรณ์ชงกาแฟพื้นฐานสำหรับเมนูอื่น ๆ นอกเหนือจากเมนูกาแฟนั้นจะประกอบไปด้วย

  • ไซรัปกลิ่นต่าง ๆ
  • ซอสกลิ่นต่าง ๆ เพื่อเพิ่มรสชาติ
  • ผงปั่น หรือ ผงเฟรปเป้
  • ผงมัทฉะ หรือผงชาอื่น ๆ
  • ผงโกโก้
  • ใบชา

วัตถุดิบเพื่อการตกแต่งอื่น ๆ เช่น โรสแมรี เลมอน มะนาว และผลไม้ตามที่ชอบ

เช็กลิสต์กลุ่มที่ 4 : อุปกรณ์ชงกาแฟหน้าบาร์

เมื่อเลือกเมล็ดกาแฟที่ลงตัว พร้อมควบคุมคุณภาพน้ำให้เหมาะสมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทีนี้ก็ถึงเวลามาเตรียมอุปกรณ์ชงกาแฟหน้าบาร์กัน ซึ่งในปัจจุบันนี้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และเพื่อเสริมความโดดเด่นให้กับร้านมากยิ่งขึ้น ธุรกิจร้านกาแฟส่วนใหญ่จึงแบ่งโซนการชงกาแฟออกเป็น 2 โซนหลัก คือ Speed Bar และ Slow Bar ซึ่งการเตรียมอุปกรณ์แต่ละส่วนนั้นจะแตกต่างกันไป ดังนี้

1. อุปกรณ์สำหรับ Speed Bar

Speed Bar คือ โซนกาแฟที่เน้นความเร็วในการสกัดช็อตเอสเพรสโซ่เพื่อนำไปทำเมนูต่าง ๆ เช่น อเมริกาโน่ ลาเต้ เดอร์ตี้ คาปูชิโน่ และเมนูอื่น ๆ ที่ใช้เอสเพรสโซ่ในการชง โดยอุปกรณ์หลัก ๆ ที่จะใช้ในโซนนี้จะประกอบไปด้วย

  • เครื่องสกัดกาแฟเอสเพรสโซ่
  • Tamper
  • ที่เกลี่ยกาแฟ (Coffee Distributor)
  • ก้านชง และ ตะแกรง (Filter Basket)
  • เครื่องบดไฟฟ้า
  • ตาชั่งจับเวลา
  • เครื่องตีฟองนม
  • เหยือกเทฟองนม
  • ที่วัดอุณหภูมิ
  • กาน้ำ
  • ช้อนตักกาแฟ
  • แก้วตวง
  • ถ้วยตวง

2. อุปกรณ์สำหรับ Slow Bar

Slow Bar หรือ Craft Coffee Zone คือ โซนชงกาแฟที่จะใช้อุปกรณ์ร้านกาแฟแตกต่างจาก Speed Bar ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ฝีมือและแรงของคนชงในการกำหนดคุณภาพของกาแฟ จึงทำให้ใช้เวลาในการชงที่ค่อนข้างนาน และมีขั้นตอนการชงที่มากกว่า ซึ่งในโซนนี้จะมีอุปกรณ์หลัก ๆ คือ

  • อุปกรณ์สำหรับทำกาแฟดริป เช่น ดริปเปอร์ กระดาษกรอง เหยือกกาแฟ เหยือกเสิร์ฟ กาน้ำสำหรับดริป และอุปกรณ์พิเศษเพื่อใช้สำหรับดริปกาแฟโดยเฉพาะอื่น ๆ
  • บางร้านอาจนำ Manual Espresso Machine มาร่วมอยู่ในโซนนี้ เช่น Flair, Aram, Staresso, รวมไปถึง Moka Pot
  • เมล็ดกาแฟพิเศษ
  • เครื่องบดกาแฟ (มือหมุน หรือไฟฟ้า)
  • อุปกรณ์ทำกาแฟแบบอื่น ๆ เช่น แอโรเพรส ไซฟอน หรือเฟรนช์เพรส

อุปกรณ์ชงกาแฟที่ร้านกาแฟและ Home Brewer ควรมี

เช็กลิสต์กลุ่มที่ 5 : อุปกรณ์สำหรับชงเมนูอื่น ๆ นอกจากกาแฟ

นอกจากจะเตรียมอุปกรณ์ชงกาแฟให้ครบถ้วนและพร้อมใช้งานแล้ว อุปกรณ์ร้านกาแฟอื่น ๆ ที่ใช้ชงเครื่องดื่มที่นอกเหนือจากกาแฟก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ควรใส่ใจ ซึ่งเจ้าของร้านกาแฟสามารถเตรียมอุปกรณ์ได้ ดังนี้

  • แปรงชงชาและถ้วยชงชา สำหรับร้านที่เสิร์ฟมัทฉะญี่ปุ่น
  • เครื่องปั่น
  • เครื่องแยกกากน้ำผลไม้
  • เครื่องทำนมถั่ว
  • ตู้น้ำแข็งเพื่อรักษาความสะอาด
  • ตู้แช่เบเกอรี

เช็กลิสต์กลุ่มที่ 6 : อุปกรณ์ทำความสะอาด

เมื่อเตรียมอุปกรณ์ในการชงเครื่องดื่มทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว อีกหนึ่งอุปกรณ์ร้านกาแฟที่มีความสำคัญไม่แพ้อื่น ๆ ก็คืออุปกรณ์รักษาความสะอาดนั่นเอง เพราะหากร้านไหนไม่ดูแลความสะอาดให้ดี ลูกค้าก็อาจไม่เข้ามาใช้บริการต่อก็เป็นได้ โดยอุปกรณ์ในส่วนนี้จะประกอบไปด้วย

  • ผ้ากันเปื้อน และ ถุงมือสำหรับทำกาแฟที่กันความร้อนได้
  • ที่ล้างพิชเชอร์ หรือ ที่ล้างอุปกรณ์แรงดันสูง
  • แปรงปัดผงกาแฟ 3 – 4 ขนาด
  • ผ้าหลายผืนสำหรับเช็ดโต๊ะ, เช็ดเครื่องชงกาแฟ, เช็ดด้ามชง และเช็ดก้านสตีม
  • ผงทำความสะอาด และแปรงทำความสะอาดหัวกรุ๊ปเครื่องชงเอสเพรสโซ่
  • ถังเคาะกากกาแฟ
  • ถุงใส่ขยะ
  • ถังขยะแยกประเภท

เช็กลิสต์กลุ่มที่ 7 : ภาชนะและบรรจุภัณฑ์

ไม่เพียงแต่จะต้องใส่ใจในรสชาติ การนำเสนอ และเตรียมอุปกรณ์ชงเครื่องดื่มให้พร้อมเท่านั้น ภาชนะอย่างแก้วกาแฟเองก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกค้าเข้าถึงรสชาติและสัมผัสความอร่อยได้เช่นกัน โดยการเตรียมอุปกรณ์ในส่วนนี้ จะประกอบไปด้วย

  • แก้วสำหรับใช้ในร้าน ควรเน้นไปที่แก้วปากบาง แต่มีความทนทานสูง
  • แก้วสำหรับ Take Away ควรเน้นไปที่แก้วพลาสติกที่ไม่มีกลิ่น แก้วย่อยสลายได้ หรือ แก้วโหลที่สามารถนำมารีไซเคิลได้
  • ฝาแก้วแบบใส่หลอด และแบบยกดื่ม
  • หลอด
  • กระดาษทิชชู่
  • ถุงเพื่อให้ลูกค้าหิ้วกลับ
  • หลอด หรือ ขวดเล็ก ๆ สำหรับใส่ช็อตเอสเพรสโซ่แยก สำหรับลูกค้าที่ไม่ต้องการผสมกาแฟลงในเครื่องดื่มทันที

เพียงเท่านี้ ทั้งเจ้าของธุรกิจร้านกาแฟและ Home Brewer ก็สามารถเตรียมอุปกรณ์ชงกาแฟ และสามารถเลือกอุปกรณ์เข้าร้านได้อย่างเหมาะสมเพื่อช่วยให้ครีเอทเมนูพิเศษออกมาได้อย่างเต็มที่แล้ว หากว่าที่บาริสต้าและเจ้าของร้านคนไหนกำลังมองหาอุปกรณ์ร้านกาแฟคุณภาพดีจากทั่วทุกมุมโลกในราคาที่ใช่ The Home Barista ก็พร้อมช่วยให้คำปรึกษาและตามหาทุกอุปกรณ์การทำกาแฟทุกรูปแบบที่คุณต้องการ สามารถติดต่อได้ที่ Line: @thehomebarista (มี @ ด้วย) ตลอดเวลาทำการ